ในระหว่างวันที่ 15 – 17 พฤษภาคม 2567 รศ.ดร. จันทิมา พลพินิจ คณบดีคณะวิทยาการสารสนเทศและดูแลฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ และ ผศ.ดร.รุ่งทิพย์ เจริญศักดิ์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและประกันคุณภาพการศึกษา ได้ร่วมเดินทางไปกับอธิการบดี รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิตและกิจการสภา รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน วิจัย และนวัตกรรม รองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์และพันธกิจสากล คณบดีและรองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ และคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ เพื่อไป Academic Visit ณ University of Göttingen หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ Georg-August-Universität Göttingen ซึ่งการ Academic Visit ณ University of Göttingen ในครั้งนี้เกิดขึ้นจาก MOU เมื่อปี พ.ศ. 2553 โดยผู้ลงนามความร่วมมือในครั้งนั้น คือ ผศ.ดร. ศุภชัย สมัปปิโต ในฐานะอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ รศ.วิรัตน์ พงษ์ศิริ ในฐานะคณบดีคณะวิทยาการสารสนเทศตามลำดับ ซึ่งสาระสำคัญของ MOU ดังกล่าวคือการสร้างความร่วมมือใน 3 ประเด็น ได้แก่ การแลกเปลี่ยนบุคลากรของคณะ (Faculty’s Staff Exchange), การแลกเปลี่ยนนิสิต (Student Exchange) 5 คนต่อปี, การพัฒนาโครงการวิจัยหรือ Project ร่วมกัน โดยกิจกรรมเหล่านี้ขึ้นกับทุน (Funding) ที่รองรับ
ดังนั้นวัตถุประสงค์เรื่องแรกในการร่วมเดินทางในครั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการรื้อฟื้นความร่วมมือตามที่คณะวิทยาการสารสนเทศได้เคยทำ MOU กับ University of Göttingen ซึ่งเดิมได้ทำไว้กับ Institute of Computer Science (ขณะนี้ได้เปลี่ยนเป็น Faculty of Mathematics and Computer Science) ทางมหาวิทยาลัยมหาสารคามมีความประสงค์จะขยายความร่วมมือกับ University of Göttingen ไปยังหน่วยงานอื่นๆ ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในเชิงวิชาการและวิจัย กับทั้งบุคลากรและนิสิตของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
วัตถุประสงค์ที่ 2 ในการร่วมเดินทางในครั้งนี้คือการไปดูงานวิจัยด้าน AI และ Data Science เพื่อสร้างความร่วมมือด้านวิจัย รวมถึงการแลกเปลี่ยนบุคลากรและนิสิตในการไปทำวิจัยที่ University of Göttingen ซึ่งการไป Academic Visiting ได้เข้าเยี่ยมชมศูนย์วิจัย 3 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์วิจัยแห่งแรกคือ Deutsches Primatenzentrum (DPZ) หรือ German Primate Centre ศูนย์วิจัยด้านสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งเน้นการวิจัย 3 ด้าน คือ Organismic Primate Biology, Neurosciences, และ Inflection Research ศูนย์วิจัยแห่งที่สองคือ SUB Zentralbibliothek ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยทางด้านชีววิทยา และ Max-Planck-Institut für Sonnensystemforschung ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยทางด้านดาราศาสตร์ ซึ่งทั้ง 3 ศูนย์วิจัยนี้จะใช้กระบวนการของ AI และ Data Science ในการประมวลผลข้อมูลทั้งสิ้น และวาง Data Science ไว้ในตำแหน่งบนสุดของกระบวนการวิจัย (Top of Research Methodology) นอกจากนี้ยังได้เข้าเยี่ยมชม Universitätsmedizin Göttingen (UMG) โดยเฉพาะในส่วนของโรงพยาบาล ซึ่งคณบดีคณะแพทยศาสตร์ของ ณ University of Göttingen ยังได้กล่าวว่า ขณะนี้ทางโรงพยาบาลมีความต้องการ Data Scientist ในการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ของโรงพยาบาล เช่น ข้อมูลการรักษา ข้อมูลผู้ป่วย เป็นต้น เพื่อประโยชน์ในการระบุแนวทางการรักษาผู้ป่วย ซึ่งทาง University of Göttingen ยินดีทำ Academic Exchange ทั้งระดับบุคลากรและนิสิตระดับบัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัยมหาสารคามไปร่วมทำวิจัย ณ University of Göttingen แต่ควรไปอย่างน้อย 6 เดือนหรือ 1 ปี เพื่อให้งานวิจัยมีความต่อเนื่อง และบุคลากรและนิสิตระดับบัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัยมหาสารคามควรสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้ดี นอกจากนี้ทั้งบุคลากรและนิสิตของมหาวิทยาลัยมหาสารคามยังสามารถขอทุนวิจัยจาก University of Göttingen หากเป็นงานวิจัยที่สอดคล้องกัน
วัตถุประสงค์ที่ 3 ของการร่วมเดินทางในครั้งนี้คือ การเยี่ยมชม National High Performance Computing and AI Center ซึ่งศูนย์ประมวลผลขั้นสูงและ Data Center ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของยุโรป มีการควบคุมการให้บริการโดย Gesellschaft für wissenschaftliche Datenverarbeitung mbH Göttingen (GWDG) ซึ่งเป็นองค์กรร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยเกิททิงเงิน และ Max Planck Society (ศูนย์วิจัยทางด้านดวงดาว) โดย GWDG ให้บริการด้าน Cloud Infrastructures, Data Analytics, Data Infrastructures, Research Data Management, High Performance Computing และ Scheduling & Resource Management โดยศูนย์ประมวลผลขั้นสูงดังกล่าวเป็น Server ที่ประกอบด้วย HPC Cluster ที่ใช้ AMDs CPU และมีจำนวนมากกว่า 14,000 Cores ใช้การควบคุมความร้อนด้วยระบบน้ำ ซึ่งศูนย์ประมวลผลขั้นสูงแห่งนี้ให้บริการทั้งด้านการเรียนการสอนและงานวิจัย สำหรับการบริหารจัดการพื้นที่ของศูนย์ประมวลผลขั้นสูงแห่งนี้ผู้ใช้งานแต่ละคนจะได้รับการจัดสรรพื้นที่ใช้งานตามลักษณะงานของตนเอง โดยทั่วไปผู้ใช้งานจะได้พื้นที่อยู่ที่ประมาณ 1 TB ซึ่งการไปเยี่ยมชม National High Performance Computing and AI Center สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการวางแผนหรือวางแนวทางในการสร้าง Data Analytic Center ของคณะวิทยาการสารสนเทศต่อไป
อย่างไรก็ตามเมื่อมองภาพรวมของการ Academic Visit ณ University of Göttingen ครั้งนี้ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม สามารถสรุปสาระสำคัญที่เป็นแนวทางในการสร้างความร่วมมือได้ดังนี้
– นักศึกษาจาก University of Göttingen หากสนใจการมา Inbound ณ มหาวิทยาลัยมหาสารคามระยะเวลายาว เช่น 1 ภาคการศึกษา ควรมี Course ที่เป็นภาษาอังกฤษเพื่อให้นักศึกษาของ University of Göttingen สามารถเรียนได้
– นักศึกษาที่มีแนวโน้มมาแลกเปลี่ยนสูงคือสาขา Business ซึ่งในหลักสูตรมีความจำเป็นจะต้องไปแลกเปลี่ยนต่างประเทศ 1 ภาคการศึกษา
– แนวทางในการร่วมมือ คือ Matching ตั้งแต่ระดับนโยบาย คณบดี จนถึง Professor โดยทาง University of Göttingen เสนอให้มหาวิทยาลัยมหาสารคามนำร่องด้วยคณะบัญชีและการจัดการ
– ทาง University of Göttingen เสนอให้มหาวิทยาลัยมหาสารคามจัดทำรายชื่อ Course ที่สามารถสอนเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อให้นักเรียนต่างชาติสามารถเลือกมาศึกษาได้
– University of Göttingen จะส่งลิงค์รายชื่อ Course ที่เป็นภาษาอังกฤษมาให้ทางมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อให้นิสิตของมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่สนใจสามารถที่จะมาเลือกศึกษาได้
– University of Göttingen มีจัดหลักสูตร สำหรับบุคลากรสำหรับมหาวิทยาลัยเครือข่ายทุกปี ช่วงเดือนพฤษภาคม โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการสมัครเข้าร่วมอบรม มหาวิทยาลัยที่ส่งบุคลากรมาจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ที่พัก และค่ากินอยู่เอง
– หากต้องการจะสมัคร Erasmus + Program ควรเริ่มจากการพูดคุยในระดับ Professor จากทั้งสองมหาวิทยาลัยเพื่อแสดงความต้องการทำความร่วมมือผลิตบัณฑิตร่วมกัน และเสนอ Proposal มาที่ University of Göttingen เพื่อคัดเลือกและส่งเรื่องขึ้นไปขอทุน ซึ่งทุนที่จะได้จะอยู่ที่ 74,000 ยูโรต่อโครงการวิจัย
ที่มา / ภาพ : คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ข่าว : ณัฐกานต์ คำปลิว